ส่องอาวุธหนักรัสเซีย ส่งประชิดยูเครน น่ากลัวแค่ไหนถึงทำตะวันตกเครียด

ส่องอาวุธหนักรัสเซีย ส่งประชิดยูเครน น่ากลัวแค่ไหนถึงทำตะวันตกเครียด

ไทยรัฐออนไลน์

17 ก.พ. 2565 07:15 น.

ท่ามกลางความตึงเครียดของชายแดนรัสเซียและยูเครน ที่ชาติตะวันตกต่างจับจ้องการเคลื่อนอาวุธและกำลังทหารของรัสเซีย ในสัปดาห์นี้ จะพาไปดูว่ารัสเซียมีอาวุธใดที่เป็นกำลังสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้บ้าง

เวลานี้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ขมึงทึงกันเต็มที่ทั้ง 2 ฝ่ายเรียกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทุกนาที หลังจาก 2 ชาติมหาอำนาจของตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่างประกาศให้พลเมืองของตัวเองเดินทางออกจากยูเครนทันที รวมทั้งขอให้งดเดินทางไปยังยูเครนด้วย ตั้งแต่ช่วง 11-13 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียส่งกำลังทหารนับแสนนายไปประจำการตามแนวชายแดนติดกับยูเครน จนก่อให้เกิดความหวั่นวิตกว่ารัสเซียจะส่งทหารบุกยูเครน หลังจากรัสเซียได้ผนวกแคว้นไครเมีย เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อ 8 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ทาง ปธน.รัสเซีย ก็แจงว่าไม่ได้จะบุกยูเครนแต่การเคลื่อนกำลังทหารเพื่อการซ้อมรบตามปกติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล 1 แสนนายพร้อมยานเกราะ และอาวุธหนักที่ชายแดนฝั่งตะวันออกยูเครน การร่วมซ้อมรบป้องกันภัยทางอากาศกับกองทัพอากาศเบลารุส โดยนำเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ และระบบมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน ร่วมซ้อมรบแบบคับคั่ง ขณะที่ ทางใต้ในทะเลดำ กองเรือรบรัสเซียก็ออกจากท่าเรือเซวาสโตโปลในไครเมีย เพื่อร่วมฝึกกำลังทางเรือ ทั้งเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และเรือคอร์เวตติดอาวุธนำวิถี

หลังจากที่ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของกองทัพอากาศยูเครนไปแล้ว ครั้งนี้จึงขอพาไปโฟกัสอาวุธหนักหมัดเด็ดของกองทัพรัสเซีย ที่นำมาซ้อมรบประชิดชายแดนโชว์แสนยานุภาพ ในการซ้อมรบโชว์ความพร้อมในแบบที่ใครได้เห็นก็ใจคอไม่ดี พาเอาแข้งขาสั่นเพราะ กำลังทหารที่วางไว้ล้อม 3 ทิศรอบยูเครนเหมือนหมีขาวรอขย้ำเหยื่อด้วยกรงเล็บซ้ายและขวา และเขี้ยวคมๆ ในปาก

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน

ติดตาม

29 มี.ค. 65

ทางตอนเหนือซ้อมรบกับเบลารุส จุดที่ใกล้กรุงเคียฟที่สุด

เบลารุส ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซีย อดีต 1 ในสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกับยูเครน กองทัพรัสเซียได้เริ่มซ้อมรบกับเบลารุสเมื่อ 10 วันก่อน และขนาดกองกำลังที่ทำให้ตะวันตกต่างหวาดเสียว โดยการวางกำลังรบในเบลารุสครั้งนี้น่าจะมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น โดยมีทั้งกำลังภาคพื้นดิน ประกอบไปด้วย ทหารบก หน่วยรบพิเศษสเปซนาซ และยานเกราะสายพานลำเลียงพล รวมทั้งกำลังทางอากาศที่น่ากลัว หลังมีการนำเอาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ เข้าไปวางกำลังในเบลารุสด้วยเหตุผลในการฝึกซ้อมรบร่วมกัน แต่ชายแดนทางใต้ของเบลารุสก็อยู่ห่างจากกรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครนไม่มาก ทำให้เป็นอีกด้านที่ฝ่ายตะวันตกจับตาอยู่

ชายแดนภาคตะวันออกยูเครน จุดที่ตึงเครียดที่สุด

พื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครน คือ จุดที่มีความตึงเครียดจากการที่รัสเซียนำกำลังเข้าประชิดชายแดน มีทั้งกำลังพลภาคพื้นดิน ทหารราบ กองพลยานเกราะ รถถัง ที่คาดว่ามีกว่า 700 คัน รวมไปถึงปืนใหญ่สนาม และปืนใหญ่อัตตาจร โดยที่น่าจับตาคือ การเคลื่อนกำลังรถถังรุ่นใหม่เข้าซ้อมรบ และเป็นด้านที่ประชาชนยูเครนที่นิยมรัสเซีย อยู่เยอะที่สุด มองกันว่าชายแดนฝั่งนี้อาจเป็นแนวรบหลักที่เดือดที่สุด หากมีการรุกราน และจะเกิดความสูญเสียอย่างมาก ต่อทหารของทั้ง 2  ฝ่าย

ในส่วนกำลังทางอากาศ กองทัพอากาศรัสเซีย ถือว่ามีความน่าเกรงขามที่สุดในภูมิภาค ทั้งด้วยจำนวน และประสิทธิภาพ โดยประกอบด้วย

ซู-35 แฟลงก์เคอร์-อี ถือว่าเป็นเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงที่ทันสมัยที่สุด มันถูกพัฒนามาจากแบบแผนของซู-27 แฟลงก์เคอร์ เอ ที่สร้างมาในทศวรรษที่ 80 มันเป็นเครื่องบินขับไล่ขนาดใหญ่ 2 เครื่องยนต์ ที่ได้มีการใส่เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนรุ่นใหม่ Saturn AL-41FS ที่มีท่อสันดาปท้ายที่ปรับทิศทางได้ อีกทั้งยังมีกำลังขับที่สูงมาก จึงทำให้ ซู-35 สามารถบินในท่าทางการบินที่ฝืนแรงโน้มถ่วงโลกได้สูงสุด 9 จี มีประโยชน์ในการรบติดพันระยะประชิด นอกจากเครื่องยนต์ใหม่ ซู 35 ยังออกแบบลำตัวให้มีหน้าตัดเรดาร์ที่เล็กลงแต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง เพื่อลดการตรวจจับโดยเรดาร์ข้าศึก

ในขณะที่ตัวมันเองติดตั้งเรดาร์ รุ่น N035 Irbis-E เป็นแบบ passive electronically scanned array (PESA) มีระยะตรวจจับไกลสุด 400 กิโลเมตร และติดตามเป้าหมายในอากาศได้ 30 เป้าพร้อมกัน และโจมตีพร้อมกัน 8 เป้าหมาย นอกจากนี้ด้วยความสามารถของเรดาร์ระบบมัลติโหมดยังสามารถสร้างภาพความคมชัดสูงของภาคพื้นดิน และเซนเซอร์ออปติคอลแบบ OLS-35 ที่หน้าห้องนักบินสำหรับตรวจจับเป้าหมายด้วยอินฟราเรด ระบบต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ L175M Khibiny-M ป้องกันตัวเองจากอาวุธต่อต้านอากาศยาน

นอกจากนี้ยังติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นใหม่ๆ เช่น ภารกิจขับไล่สกัดกั้น ติดตั้ง R-73 หรือ เอเอ-11 อาเชอร์ มิสไซล์นำวิถีด้วยอินฟราเรดที่สามารถยิงได้จากทุกมุม เทียบได้กับ เอไอเอ็ม-9 เอ็กซ์ ของสหรัฐฯ R-77 หรือ เอเอ-12 แอดเดอร์ มิสไซล์นำวิถีด้วยเรดาร์แอคทีฟ หรือ ยิงแล้วลืม มีระยะยิงไกลกว่าสายตาเทียบเท่าอาวุธปล่อย แอมแรมของสหรัฐฯ หรือจะใช้โจมตีภาคพื้นดินก็เลือกติดมิสไซล์แบบ Kh-29T/TE แบบ เอเอส-14 เคจน์-บี ทำวิถีด้วยกล้องทีวีควบคุมโดยนักบิน และขีปนาวุธร่อนนำวิถีความเร็วเหนือเสียงแบบ 3M-54AE คาลิเบอร์ สำหรับทำลายเรือผิวน้ำ และเป้าหมายภาคพื้นดินระยะยิง 300 กม. หากนำมาใช้ในการรบ ซู-35 จะทำหน้าที่บินคุ้มกันเครื่องบินโจมตีของรัสเซีย รวมทั้งทำลายเป้าหมายทางทหารที่สำคัญ ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีจากระยะไกล และยังสามารถรับมือกับเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ของนาโต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะขัดขวางการครองอากาศของเครื่องบินรบฝ่ายตรงข้ามได้อย่างดี

ซู-30 เอสเอ็ม แฟลงก์เคอร์-ซี  ออกแบบมาเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงแบบอเนกประสงค์ ใช้ได้ทั้งการรบในอากาศและโจมตีภาคพื้นดินทุกกาลอากาศ แบบ 2 ที่นั่ง มีใช้งานในกองทัพอากาศรัสเซีย และเบลารุส เพื่อนบ้านที่ร่วมซ้อมรบกันอยู่ โดยใช้รุ่น Su-30SM หรือรุ่นปรับปรุงที่มีการอัปเกรดประสิทธิภาพเทียบชั้นเครื่องบินขับไล่ยุค 4+ สูงกว่า ซู-30 รุ่นแรกๆ ได้แก่ เครื่องยนต์ไอพ่นเทอร์โบแฟน แบบ Saturn AL-31FL/FP สามารถปรับทิศทางแรงขับได้ ติดสันดาปท้ายทำความเร็วมากกว่า 2 มัค บินได้นาน 4.5 ชม.เมื่อน้ำมันเต็มถัง พร้อมปีกเล็ก หรือคาร์นาร์ดด้านหน้า ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการบิน ในท่าทางที่ฝืนแรงดึงดูดของโลก

ระบบเรดาร์เฟสอาเรย์ มัลติโหมดแบบ N011M Bars ให้ระยะตรวจจับเป้าหมายไกลสุด 400 กม.และค้นหาติดตามที่ระยะ 200 กม.ระบบพิสูจน์ฝ่าย ในส่วนของอาวุธ ซู-30 สามารถใช้งานอาวุธได้หลากหลายทั้งการรบในอากาศและโจมตีภาคพื้นดินด้วย อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น Kh-59M/ME , Kh-29TE/L Kh-31A ระเบิดนำวิถี ระเบิด จรวดไม่นำวิถี ปืนใหญ่อากาศ 30 มม.แม่นยำสูง GSh-30-1 รองรับการเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ รวมทั้งกระเปาะสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก่อกวนเรดาร์แบบ SAP-518 ที่ปลายปีกข้างละกระเปาะ ดังนั้นหากมีการโจมตีทางอากาศ ซู-30 จะบุกเข้าจากทางตอนเหนือของยูเครน ในเวลาไม่กี่อึดใจสามารถเข้าถึงกรุงเคียฟได้ในทันที และยังสามารถบินทำการรบได้เป็นชั่วโมงก่อนจะกลับไปเติมอาวุธและน้ำมัน มันจึงสามารถรับมือเครื่องบินขับไล่ของตะวันตกได้ และยังใช้อาวุธโจมตีภาคพื้นดินต่อเป้าหมายสำคัญทางทหารได้อีกด้วย

มิก-31 บีเอ็ม ฟ็อกซ์ฮาวด์ เครื่องบินขับไล่สกัดกั้นครองอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ถูกออกแบบมาเพื่อต่อยอดเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง มิก-25 ฟ็อกซ์แบต มิก-31 เป็นเครื่องสกัดกั้นแบบแรกของโซเวียตที่ติดตั้งเรดาร์เฟสอาร์เรย์แบบ passive electronically scanned array radar (PESA) รุ่น ซาสลอน เอ็ม (Zaslon M) ที่ตรวจจับเป้าหมายได้ที่ระยะ 400 กม. ติดตามเป้าหมายได้พร้อมกัน 24 เป้า และโจมตีจากระยะไกลกว่าสายตา ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยเรดาร์ R-33 หรือ เอเอ-9 อามอส ได้ 6 เป้าพร้อมกัน แต่ปัจจุบันทดแทนด้วย มิสไซล์รุ่นใหม่คือ อาร์-37 แอร์โรว์ นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบดาตาลิงก์แบบ RK-RLDN และ APD-518 ทำให้สามารถเชื่อมโครงข่ายป้องกันภัยทางอากาศกับฐานยิงมิสไซล์ต่อต้านอากาศยานจากภาคพื้นดินแบบ S-300, S-400 แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือ มิก-31 เค ที่เป็นรุ่นล่าสุดดัดแปลงมาเพื่อติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่ฟื้นความเร็วเหนือเสียง 10 เท่าแบบ Kh-47M2 Kinzhal (คินซาล) โดยรัศมีการยิงไกล 2,000 กิโลเมตร ติดได้ทั้งหัวระบบระเบิดแรงสูงและหัวรบนิวเคลียร์ หากมีการนำมาใช้ เชื่อว่าจะถูกใช้ยิงทำลายเป้าหมายทางทหารที่อยู่ลึกหลังแนวข้าศึก ถือเป็นภัยคุกคามอันตรายรับมือยาก

เฮลิคอปเตอร์โจมตี มิล มิ-35 เอ็ม ไฮนด์ เฮลิคอปเตอร์โจมีและลำเลียงของรัสเซีย สร้างชื่อมายาวนานในสงครามต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ถือเป็นเฮลิคอปเตอร์โจมตีขนาดใหญ่ มี 2 เครื่องยนต์ โรเตอร์หลัก 5 ใบพัด รัศมีปฏิบัติการกว่า 450 กม.จึงสามารถสนับสนุนกำลังทหารราบและโจมตีใส่ยานเกราะและรถถังได้เป็นอย่างดี มิ-35 เป็นรุ่นอัปเกรดจาก มิ-24 โดยมีการอัปเกรดระบบเดินอากาศใหม่ ห้องนักบินติดจอภาพแสดงผล ระบบสื่อสาร ระบบนำทางจีพีเอส และหุ้มเกราะหนา ติดตั้งปืนกล 23 มม. 2 กระบอกสามารถยิงใส่รถถังได้ หรือติดตั้งมิสไซล์ต่อต้านรถถัง ระบบเป้าลวงมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน รวมทั้งยังสามารถบินรบในเวลากลางคืนได้ มิ-35 เอ็ม จึงเป็นอากาศยานปีกหมุนที่สำคัญ ในการสนับสนุนกำลังภาคพื้นดิน ทั้งการโจมตี และการขนส่งกำลังทางอากาศ

เฮลิคอปเตอร์โจมตี คามอฟ คา-52 อัลลิเกเตอร์ เฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ 2 ที่นั่งคู่กัน ที่จะเป็นฝันร้ายของเหล่ายานเกราะและรถถัง มันถูกออกแบบมาให้มีความดุดัน แข็งแกร่ง มีลักษณะเป็น ฮ.โรเตอร์หลัก 2 อันหมุนสวนทางกัน ติดตั้งปืนกลขนาด 30 มม.สำหรับยิงทำลายยานเกราะและรถถัง อาวุธปล่อยต่อต้านรถถังนำวิถีด้วยเลเซอร์ 9K121 Vikhr หรือ ชื่อนาโต AT-16 Scallion จรวดไม่นำวิถีแบบ S-8 และ S-13 สามารถบินสนับสนุนกำลังภาคพื้นดิน จากชายแดนภาคตะวันออกของยูเครนและทางใต้จากไครเมีย สามารถเข้าจัดการยานเกราะ ที่มั่นทางทหาร บังเกอร์ รวมทั้งเรือขนาดเล็ก รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ของข้าศึก นอกจากนี้ยังมีขีดความสามารถในการเอาตัวรอดสูง เพราะติดระบบก่อกวนเรดาร์ และเป้าลวงอาวุธนำวิถี

อาวุธภาคพื้นดิน กำลังสำคัญที่จะกุมชัยชนะในพื้นที่การรบ

ระบบมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน S-400 ตรีอุมฟ์ นาโตกำหนดรหัส SA-21 Growler เป็นอาวุธต่อต้านอากาศยานทางยุทธวิธีถูกออกแบบมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 โดยสำนักออกแบบกลางอัลมาส์กประเทศรัสเซีย ใน 1 หน่วยยิง (กองพันปืนใหญ่) ซึ่งประกอบด้วย 8 เครื่องปล่อย, ขีปนาวุธ 112 ลูก, พาหนะสั่งการและสนับสนุน PBU 55K6E พร้อมระบบเรดาร์ตรวจจับ 91N6E panoramic ที่สามารถตรวจจับเครื่องบินสเตลธ์ที่ระยะ 150 กม. ตรวจจับขีปนาวุธได้ที่ระยะ 200 กม. เครื่องบินทิ้งระเบิด เป้าหมายขนาดใหญ่ ที่ระยะ 400 กม. และเรดาร์ตรวจจับระดับสูง 96L6 ที่สามารถตรวจจับพร้อมกัน 100 เป้าหมายในเวลาเดียวกัน ถือเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ดีที่สุดของรัสเซีย เทียบชั้นได้กับขีปนาวุธพื้น-สู่-อากาศ แพทริออต แพค 3 ของนาโตและกองทัพสหรัฐฯ ทำให้เป็นปราการสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามทั้งเครื่องบินโจมตี เครื่องบินทิ้งระเบิดเพดานบินสูง รวมทั้งขีปนาวุธร่อนอย่าง ALCM และโทว์มาฮอว์กของสหรัฐฯ

ระบบขีปนาวุธเคลื่อนที่พื้น-สู่-พื้น 9K720 Iskander-M เป็นระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในความขัดแย้ง ใช้โจมตีหลังแนวข้าศึก ติดตั้งบนรถบรรทุกล้อยางเคลื่อนที่ได้ 1 คัน ติดตั้งขีปนาวุธ 2 ลูก ระยะยิงไกล 400-500 กิโลเมตร มีความเร็วสูงสุด 5.9 มัค สามารถเลือกหัวรบได้หลากหลายทั้งระเบิดแรงสูงตั้งแต่ 400-700 กก. หัวรบดาวกระจาย ระเบิดเชื้อเพลิงอากาศ ระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และนิวเคลียร์ หมัดเด็ดใช้น็อกกำลังภาคพื้นดิน ด้วยอำนาจการทำลายล้างสูง แนวหลังของฝ่ายตรงข้ามจะถูกแรงระเบิดทำลายจนพินาศ อีกทั้งยังเคลื่อนที่ไปมาได้ ทำให้ยากต่อการพิสูจน์และทำลายโดยข้าศึก

รถถังหลัก T-90 รถถังหลักของกองทัพรัสเซียที่ต่อยอดมาจากรถถังหลัก T-72B3 ที่นำรถถัง T-72 ที่มีใช้งานมานานอัปเกรดปรับปรุงให้มีความสามารถสูงขึ้น ทันสมัยและเชื่อใจได้ในการรบ ใช้ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบขนาด 125 มม. 2A46 ติดตั้งระบบควบคุมการยิง 1A45T เครื่องยนต์ที่ได้รับการอัปเกรด ติดตั้งระบบป้องกันมาตรฐานรวมถึงการผสมระหว่างเหล็กและเกราะคอมโพสิต, เครื่องยิงระเบิดควัน, เกราะตอบโต้ปฏิกิริยาระเบิด Kontakt-5 และระบบรบกวน ATGM ที่นำวิถีด้วยอินฟราเรดของ Shtora เคยแสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์มาแล้วในสงครามที่ซีเรีย มีความคล่องตัวสูง อาวุธหนักรุนแรง อีกทั้งยังติดตั้งเกาะปฏิกิริยาที่สามารถป้องกันตัวเองจากลูกปืนใหญ่ หรือจรวดต่อต้านรถถัง รวมทั้งมิสไซล์แจเวลิน เอาตัวรอดในสนามรบได้ด้วยเครื่องยิงระเบิดควัน และเซนเซอร์แจ้งเตือนการล็อกเป้าด้วยเลเซอร์

รัสเซีย ยังมีระบบปืนใหญ่ที่ช่วยสนับสนุนกำลังภาคพื้นดินที่น่ากลัว คือ ระบบปืนใหญ่อัตตาจร (เคลื่อนที่ได้เอง) 2S35 Koalitsiya-SV (โคอาลิตซิยา-เอสวี) ด้วยอำนาจการทำลายของปืนใหญ่ ขนาด 155 มม.และอัตราการยิง 16 นัดต่อนาที ด้วยระบบออโต้โหลดเดอร์ ทำให้มันสามารถยิงสนับสนุนถล่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีหัวรบให้เลือกหลากหลายทั้งแบบ ระเบิดแรงสูง กระสุนแตกอากาศ กระสุนนำวิถี และกระสุนคลัสเตอร์ โดยมีความแม่นยำ และระยะยิงที่เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ สามารถเคลื่อนย้ายจุดยิงได้ตลอดเวลา ยากที่จะยิงสวนกลับ สามารถทำลายเป้าหมายในแนวหลังของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยานหุ้มเกราะสายพานลำเลียงพล BTR-MDM หรือ ราคูสช่า ยานสายพานลำเลียงอเนกประสงค์ที่พัฒนามาจาก BTR-MD ที่มีตัวถังใหญ่แต่ไม่มีป้อมปืน ใช้งานได้หลากหลายทั้งการลำเลียงพลได้ถึง 13 นาย ส่งอาวุธและลำเลียงผู้บาดเจ็บ มีใช้งานในกองทหารพลร่มรัสเซีย และยังมีแบบที่ติดตั้งปืน ค.อีกด้วย มันติดตั้งปืนกล 7.76 มม.เพื่อป้องกันตัว และสามารถติดเครื่องยิงลูกระเบิด นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาอาวุธต่อต้านรถถัง 9M133 Kornet เพื่อใช้ต่อกรกับรถถังข้าศึก หรือรับมือภัยทางอากาศโดยใช้อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ Verba MANPADs ได้ด้วย

กำลังทางเรือ ในทะเลดำและไครเมีย

กองเรือรบรัสเซีย สามารถปิดล้อมยูเครนในส่วนของพื้นที่ทางออกติดทะเล ทำให้ตัดขาดการขนส่งทางน้ำของยูเครน รวมทั้งอาจขยายปฏิบัติการไปทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อกดดันกองเรือของนาโตได้ด้วย นอกจากนี้ยังใช้เรือยกพลขึ้นบก เพื่อนำทหารบุกขึ้นหาดที่เมืองโอเดสซาของยูเครนได้เช่นกัน

เรือลาดตระเวนติดอาวุธนำวิถี ชั้นสลาวา ชื่อ มอสควา ปฏิบัติการอยู่ในทะเลดำ มีระวางขับน้ำ 9,380 ตัน ทำความเร็วสูงสุดที่ 32 นอต ระยะปฏิบัติการ 3,000 ไมล์ทะเล ติดตั้งหมัดเด็ดสำหรับน็อกเรือรบ คือ ขีปนาวุธ Placement of P-500 Bazalt (SS-N-12 Sandbox) สามารถใช้จมเรือรบ หรือเรือบรรทุกเครื่องบินได้สบายๆ นอกจากนี้ยังมีขีดความสามารถต่อต้านอากาศยานด้วยมิสไซล์ s-300 สำหรับเป้าหมายระยะไกล นี่คือฐานแซมลอยน้ำในการหยุดยั้งภัยทางอากาศที่มาจากทางทะเล

เรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถี ชั้นแอดมิรัล กริกอร์โรวิช ที่ปฏิบัติการซ้อมรบในทะเลดำ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเรือฟริเกตขนาดใหญ่มีระวางขับน้ำ 4,000 ตัน สามารถทำการรบได้ 3 มิติ มีความทันสมัยมากในกองทัพเรือรัสเซีย ติดตั้งอาวุธเป็นปืนเรือขนาด 100 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก และหมัดเด็ดอย่างขีปนาวุธร่อนแบบ คาลิเบอร์ ยิงจากท่อยิงแนวดิ่งด้านหน้าเรือ รวมทั้งรับมือภัยทางอากาศด้วยมิสไซล์ Buk แบบยิงจากเรือ 3S90M ระบบป้องกันตัวระยะประชิด AK-630 เป็นระบบปืนกลลำกล้องหมุนขนาด 30 มม.ควบคุมการยิงด้วยคอมพิวเตอร์ ตรวจจับเป้าด้วยเรดาร์ เรือฟริเกตรุ่นนี้ สามารถจัดการภัยคุกคามทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ มีอาวุธที่ยิงได้ไกล น่าเกรงขามที่สุดในทะเลดำ

เรือดำน้ำดีเซล ชั้นกิโล รุ่นปรับปรุง (Project 636) อาวุแบบสุดท้าย คือ เรือดำน้ำชั้นกิโล แม้ว่าจะเป็นเรือดำน้ำรุ่นเก่า ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลทำให้มีเวลาปฏิบัติการใต้น้ำที่จำกัด แต่ก็มีความคล่องตัวในการปฏิบัติการในทะเลที่มีขอบเขตเช่นทะเลดำ สามารถปฏิบัติการในทะเลนานสุด 45 วัน ดำน้ำไปได้ไกลสุด 400 ไมล์ทะเลหรือ 700 กม.ที่ความเร็ว 3 นอต และแล่นไปได้ไกลสุด 7,500 ไมล์ที่ความเร็ว 7 นอตโดยใช้ท่อรับอากาศ แต่สามารถทำความเร็วได้มากกว่านี้แต่เชื้อเพลิงก็จะหมดเร็ว เรือดำน้ำชั้นกิโลรุ่นปรับปรุง สามารถใช้ปฏิบัติการปิดล้อมทางทะเล และจัดการกับเรือขนส่งสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันด้วยตอร์ปิโด หรือสนับสนุนการโจมตีภาคพื้นดินด้วยขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ จึงถือว่าเป็นภัยคุกคามใต้น้ำที่ประมาทไม่ได้.

ผู้เขียน : จุลดิส รัตนคำแปง

ที่มาthairath.co.th