เมื่อการค้ามนุษย์อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด ถอดบทเรียนจากผู้เสียหายที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน
“เราทุกคนคือประชากรโลก”
ยุคโลกาภิวัตน์ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารหรือเดินทางข้ามประเทศได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้การไปเที่ยวต่างประเทศนั้นฮิตจนแทบไม่ต่างอะไรกับการไปหน้าปากซอย บางคนก้าวไปอีกขั้นด้วยการไปทำงานต่างประเทศ และกลับมาพร้อมกับเงินเป็นฟ่อน จนเพื่อนฝูงเห็นแล้วก็พร้อมใจเก็บกระเป๋ามุ่งหน้าสู่ต่างแดนกันถ้วนหน้า
แต่โลกที่แสนสะดวกในทุกวันนี้ ยังมีภัยจาก ‘การค้ามนุษย์’ ที่อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยี ในการหลอกลวงผู้คนจนเกิดปัญหาเป็นวงกว้าง หลายคนอาจมีภาพจำว่าการค้ามนุษย์จะเกิดเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดาร แต่ความจริงแล้วการค้ามนุษย์อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะเกือบทุกประเทศล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้ามนุษย์ โดยอาจเป็นประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน หรือประเทศปลายทาง
เราจึงอยากพาคุณมาถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานข้ามประเทศ คำบอกเล่าจากญาติของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และข้อมูลจาก ‘ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน’ หรือ ศปคร. เพื่อให้คุณรู้ทันอันตราย ช่วยกันหยุดการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อีก
ค้ามนุษย์ บังคับใช้แรงงาน ภัยเงียบที่ฝังลึกในไทย
ถ้าพูดถึงการค้ามนุษย์แล้ว หลายคนอาจนึกถึงข่าวการค้าประเวณี หรือแรงงานประมงเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงการค้ามนุษย์แฝงอยู่ในการทำงานหลายรูปแบบ เพราะการค้ามนุษย์คือการกระทำที่นำมาซึ่งการซื้อขายบุคคล ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหาประโยชน์จากบุคคลอื่น เช่น การหลอกลวงคนให้ไปทำงานผิดกฎหมาย โดยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับการหลอกลวงได้รับผลตอบแทนจากการกระทำนั้น
ส่วนการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ คือการบังคับให้คนทำงานโดยไม่สมัครใจ ด้วยวิธีการต่างๆ โดยที่คนๆ นั้นไม่สามารถขัดขืนการถูกบังคับให้ทำงานได้ เช่น ลูกเรือประมงถูกบังคับให้ทำงานเกินจำนวนชั่วโมงที่กฎหมายกำหนดในแต่ละวัน ซึ่งหากไม่ยอมทำงานก็จะถูกทำร้ายร่างกาย และไม่สามารถหนีลงจากเรือได้เนื่องจากเรือประมงลอยลำอยู่กลางทะเล
โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ จำนวนคดีค้ามนุษย์ที่พบในไทยมีจำนวนถึง 32 คดี ส่วนการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ มีจำนวน 2 คดี และคดีเหล่านี้มักมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งแทบไม่ต่างจากเรื่องราวที่เรานำมาถอดบทเรียนให้กับทุกคนในครั้งนี้เลย
จุดเริ่มต้นที่เปี่ยมด้วยความหวัง
“เป็นช่วงที่เพิ่งตกงาน จึงเข้าไปเสิร์ชหางานอยู่ในกลุ่มๆ หนึ่งที่เคยได้งานจากในนั้น”
ผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานข้ามประเทศเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าเจอโพสต์ในกลุ่มหางาน ที่กำลังรับสมัครล่ามแปลภาษาในพื้นที่ทางตอนเหนือของไทย เงินเดือนเกือบ 40,000 บาทนั้นถือเป็นค่าตอบแทนที่สูง และยังมีค่าใช้จ่ายให้สำหรับการเดินทาง จึงได้ติดต่อไปยังเจ้าของโพสต์ เช่นเดียวกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อีกราย ทางญาติให้ข้อมูลว่าในช่วงที่กำลังหางานใหม่เนื่องจากบริษัทปิดตัวลงจากสภาวะเศรษฐกิจ จึงได้พบกับโพสต์รับสมัครเซลล์ภาษาอังกฤษในพื้นที่เดียวกัน โดยมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 28,000 บาท ไม่รวมค่าคอมมิชชัน มีอาหาร ค่าที่พัก และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ฟรีเช่นกัน
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ศปคร.) พบว่าในปัจจุบันการหลอกลวงผ่านทางโซเชียลมีเดียมีมากขึ้น โดยเฉพาะทางเฟซบุ๊ก โดยนายจ้างจะอ้างว่าเป็นงานที่ให้ผลตอบแทนดี มีข้อจำกัดทางคุณสมบัติน้อย ในช่วงแรกนายจ้างมักให้ผลตอบแทนตามที่บอกเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้เสียหายชวนคนรู้จักมาร่วมงานด้วยกัน แม้ในบางครั้งผู้เสียหายเองก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ด้วยความไว้ใจจึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อความเป็นจริงไม่ต่างจากฝันร้าย
“พาไปไหนก็ไม่รู้เพราะมันเป็นอีกประเทศหนึ่งแล้ว ไม่มีการแสตมป์หนังสือเดินทางเข้า ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าเรามาประเทศนี้ ถ้ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้น ไทม์ไลน์ล่าสุดของเราก็คือเราจะอยู่ที่นี่ หลังจากนั้นคือเราหายตัวไปแล้ว”
ผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานข้ามประเทศเล่าว่า ความผิดปกติได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่เดินทางไปถึง เมื่อคนที่มารับพาไปยังที่พักบริเวณชายแดน ไม่ใช่สถานที่ทำงานในตัวเมืองของจังหวัดตามที่นายหน้าบอก ในวันถัดมาการเดินทางเต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งการนั่งเรือผ่านน้ำเชี่ยว หรือการนั่งรถที่ต้องคอยก้มหลบสายตาตำรวจตลอดเวลา ทำให้ผู้เสียหายรู้ว่าเป็นการหลอกลวง แต่ด้วยความกลัวจึงเลือกที่จะทำตามคำสั่ง และต่อมาได้รู้ว่างานที่ต้องทำคือ ‘Scammer’ (การหลอกลวงเพื่อเอาผลประโยชน์จากผู้อื่นทางอินเทอร์เน็ต) หลังจากนั้นได้พูดคุยกับนายหน้าจนได้รู้ว่าแท้จริงแล้วนายหน้าเองก็เป็นเหยื่อที่ถูกหลอกมาอีกทอด ผ่านไปเป็นสัปดาห์ ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้เริ่มงาน จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่มาตรวจที่พัก และได้ถูกควบคุมตัวไปเนื่องจากเป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งผู้เสียหายได้บรรยายสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทุกอย่าง
หลังจากที่อยู่ในห้องขังไม่กี่วัน ผู้เสียหายก็ถูกย้ายไปที่กักกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ แต่เมื่อได้พบกับคนของนายจ้างที่ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูต และได้เห็นเหยื่อบางคนถูกนำตัวออกไปจากที่กักกันกลางดึก ผู้เสียหายจึงได้รู้ว่าแม้แต่ในสถานที่ดังกล่าวก็ไม่ปลอดภัย เพราะอิทธิพลของนายจ้างยังเข้ามาได้ และกำลังรอนำตัวผู้เสียหายออกมาเพื่อขายต่อไปประเทศอื่น
ทางด้านผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เดินทางไปยังอีกประเทศ ญาติได้เล่าถึงความรุนแรงว่ามีตั้งแต่การหักเงินหากทำยอดไม่ถึงเกณฑ์ การประจาน การขังเดี่ยวใน ‘ ห้องมืด’ ไปจนถึงการช็อตไฟฟ้าคนที่พยายามหลบหนี ซึ่งการหลบหนีนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะที่พักแทบจะเป็นเมืองที่มีทั้ง ร้านขายของ คลินิก คาราโอเกะ บ่อน ไปจนถึงซ่อง กินพื้นที่เกือบ 6 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงและป้อมยามที่มีอาวุธปืน แต่หลังจากญาติทำการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ผู้เสียหายก็ได้ออกจากที่นั่น ทว่าระหว่างรอทำเอกสารกลับประเทศ ผู้เสียหายได้ถูกควบคุมตัวในข้อหาติดหนี้จากการเล่นพนัน ทั้งที่ไม่เคยเล่นการพนันในประเทศนั้นเลย โดยญาติของผู้เสียหายได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“นี่คืออิทธิพลของขบวนการข้ามชาติ ที่เขามีอำนาจจนสามารถทำให้เราติดคุกได้”
ซึ่งชีวิตในห้องขังนั้นไม่ต่างจากผู้เสียหายอีกรายนัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวใส่ถังที่ต้องใช้มือกิน หรือทุกอย่างที่ต้องใช้เงินซื้อ จนทำให้ผู้เสียหายต้องขอเงินจากสถานทูตเพื่อให้มีเงินพอสำหรับใช้ชีวิต
ในวันที่กรงขังเปิดออก
เมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย ผู้เสียหายที่ถูกหลอกไปทำงานข้ามประเทศจึงให้แฟนซึ่งไปด้วยกันติดต่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในไทย จนได้รับการติดต่อจาก ศปคร. และได้รับคำแนะนำในการกลับประเทศ รวมถึงประสานความช่วยเหลือกับทางสถานทูตให้เป็นการภายใน การติดต่อกับ ศปคร. ไว้ตลอด ทำให้การเดินทางกลับประเทศไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แม้จะว่าใช้เวลากักตัวถึง 14 วัน และมีการคุกคามจากนายจ้างที่อ้างว่ามีพรรคพวกในไทย นอกจากนี้ ศปคร. ยังช่วยประสานงานให้กับผู้เสียหายในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าเมือง จนในปัจจุบันผู้เสียหายสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว
“ชีวิตเราจะยังไม่ปลอดภัย ตอนนี้มันอาจจะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่หลังจากนั้นเราไม่รู้”
ในส่วนของผู้เสียหายอีกราย ญาติเล่าว่าใช้เวลาทั้งสิ้นเกือบ 3 เดือนในการกลับไทย ซึ่ง ศปคร. ก็เป็นหน่วยงานที่ติดต่อเข้ามาช่วยเหลือเช่นกัน ในปัจจุบันผู้เสียหายรายนี้ยังอยู่ในการดูแลของราชการ รวมถึงญาติที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะถูกนายจ้างคุกคามด้วยการโทรมาข่มขู่ ไปจนถึงส่งคนทวงหนี้ปลอมมาที่บ้าน ทั้งที่ตนไม่ได้ติดหนี้ใคร
นอกจากการช่วยเหลือผู้เสียหายในการเดินทางกลับ ทาง ศปคร. ยังร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้เห็นถึงอันตรายของการค้ามนุษย์ และประสานงานให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับแจ้งเรื่อง เมื่อได้รับเบาะแส ทาง ศปคร. จะตรวจสอบข้อเท็จจริง และร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายในการเดินทางกลับเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นเคสในประเทศจะใช้เวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเคสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอาจต้องใช้เวลาถึง 3-4 เดือน เพราะขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือจะต้องดำเนินการโดยประเทศปลายทาง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว สถานทูตไทยประจำประเทศนั้นๆ ถือเป็นผู้ประสานงานหลักในการให้ความช่วยเหลือคนไทย ก่อนที่จะมีการเดินทางกลับเข้าประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป
สำหรับการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ ทางเจ้าหน้าที่จาก ศปคร. ให้ข้อมูลว่า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ส่วนการกระทำผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต มีโทษปรับ ตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท
ภัยร้ายใกล้ตัวที่ยังไม่สิ้นสุด
“การค้ามนุษย์มันใกล้ตัวเรามาก” คือคำตอบของผู้เสียหายเมื่อเราถามถึงสิ่งที่อยากบอกกับคนในสังคม เพราะยังมีเหยื่ออีกหลายรายที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกัน และในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
“ถ้าคุณทำงานไม่ได้ คุณจะถูกขายต่อให้นายหน้าคนอื่นไปเรื่อยๆ ไม่มีงานไหนจะได้เงินเยอะและสบายอย่างที่เขาว่า ถ้าเราไปแบบผิดกฎหมาย” ผู้เสียหายสรุป
ด้านเจ้าหน้าที่ ก็มีมุมมองเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่น่าสนใจว่า
“ถ้ามีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ คือสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี ก็คงไม่มีใครที่ยอมเสี่ยงไป เราจึงไม่ควรตัดสินคุณค่าของใครจากฐานะ ส่วนคนที่หาผลประโยชน์จากคนอื่น หน่วยงานภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดอีก” ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้รู้ถึงปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานยังมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือคนที่หางาน โดยสามารถติดต่อสอบถามและลงทะเบียนคนหางานได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้งานที่ดี และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ปัจจุบันการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในไทยมีจำนวนลดลง อาจเป็นเพราะการเดินทางข้ามประเทศเป็นไปได้ยาก รวมถึงหลายกิจการไม่ต้องการแรงงานเพิ่ม บางกิจการถึงขั้นปิดตัวลง สิ่งที่น่าห่วงคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงานได้มากยิ่งขึ้น
thematter.co ที่มา