ทุ่งสังหารแห่งอีสาน: ครบรอบ 120+1 ปี ปราบกบฏผู้มีบุญ ณ บ้านสะพือ ประวัติศาสตร์มืดที่กาลเวลากลบฝัง
HIGHLIGHTS
- ครบรอบ 121 ปีเหตุการณ์ปราบกบฏผู้มีบุญ ณ โนนโพธิ์ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ชีวิต จากเหตุการณ์สังหารหมู่ในอดีตดังกล่าวสู่สารคดี ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’ ที่บันทึกความทรงจำที่ยังคงเหลืออยู่ต่อเหตุการณ์ที่รัฐสยามในสมัยนั้นใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน เพื่อไม่ให้ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา
หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือเคยอ่านผ่านตาถึงเรื่องราวของ ‘กบฏผีบุญ’ กันมาบ้าง กับเรื่องราวการลุกฮือต่อต้านอำนาจรัฐสยามของขบวนการ ‘ผู้มีบุญ’ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายครั้งในอดีต แม้จะผ่านมาเนิ่นนานแต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ดำมืดที่มีการนำกลับมาพูดถึงอยู่เสมอ ราวกับเสียงหวีดหลอนของผู้เสียชีวิตที่ถูกปราบปรามในสมัยนั้นที่ไม่ยอมให้โศกนาฏกรรมนี้ถูกลบเลือนไป หนึ่งในเหตุการณ์ปราบกบฏผีบุญซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดนั้นคือเหตุการณ์ที่เนินโพธิ์ บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 300 ชีวิต ในช่วงวันที่ 4-5 เมษายน พ.ศ. 2444 ซึ่งจะครบรอบ 121 ปีในปีนี้ ประจวบเหมาะกับที่ท้องถิ่นจะมีการจัดงานบุญให้กับผีบุญและจัดฉายสารคดีเรื่อง ‘The Killing Field of Isaan: ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’
THE STANDARD POP จึงอยากชวนทุกคนไปพูดคุยกับผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้กัน
‘โดม-อติเทพ จันทร์เทศ’ ผู้สื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ด
ผู้สร้างสรรค์สารคดี ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’
จุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่อง ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’
‘โดม-อติเทพ จันทร์เทศ’ ชายหนุ่มอายุ 25 ปี พื้นเพเป็นชาว จ.ศรีสะเกษ ที่ผ่านมาเขาเคยทำสารคดีเกี่ยวกับผลกระทบของชาวบ้านจากโครงการพัฒนามาตั้งแต่สมัยเรียนพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับชุมชนริมทางรถไฟใน จ.ขอนแก่น เหมืองแร่ในภาคอีสาน ซึ่งเมื่อทำเสร็จก็มักจัดแสดงภายในชุมชน ปัจจุบันโดมเป็นเป็นผู้สื่อข่าวให้กับสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของภาคอีสานอย่าง The Isaan Record ผลงานเรื่อง ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’ นี้เป็นการต่อยอดจากซีรีส์ผลงานข่าวที่ทำให้กับสำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้นั่นเอง
“จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของสารคดีเรื่องนี้คือช่วงนั้นเรื่องประวัติศาสตร์อีสานกำลังเริ่มกลับมามีอิทธิพลกับสื่อและผู้คนในอีสาน ซึ่งเรามองว่ามันมีเรื่องของกบฏผีบุญที่กระจัดกระจายเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ในอีสาน เลยคิดว่าต้องมีการรวบรวมอดีตที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนในอีสานเอาไว้ ก็เลยทำเรื่องผีบุญชิ้นแรกขึ้นมา เมื่อมีการนำเสนอออกไปก็มีคนที่ได้ดูงานนี้กันเป็นล้านคนเลย กอง บ.ก. สนใจทำประเด็นนี้กันต่อ”
นี่จึงเป็นที่มาของซีรีส์ชุด #ผู้มีบุญในอีสาน ของเดอะอีสานเรคคอร์ด ที่ทำออกมาถึง 2 ซีซัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จนมาในตอนนี้อติเทพได้พัฒนาขึ้นมาเป็นสารคดี ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’ ซึ่งจะจัดฉายครั้งแรกในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 ในวาระงานบุญศึกเนินโพธิ์บ้านสะพือครบรอบ 121 ปีพอดี
ทหารควบคุมตัวกบฏผีบุญไว้ที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี พ.ศ. 2444
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
กบฏผู้มีบุญคืออะไร: เกิดอะไรขึ้นที่ศึกเนินโพธิ์บ้านสะพือ?
‘กบฏผู้มีบุญ’ หมายถึงกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งมีหัวหน้าตั้งตัวเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีบุญ เช่น อ้างว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรย หรือองค์ผู้มีบุญต่างๆ นับตั้งแต่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2242 ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา จนถึง พ.ศ. 2502 ช่วงเวลา 260 ปี มีกบฏผู้มีบุญเกิดขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้ง ภาคอีสานจึงนับเป็นภาคที่มีกบฏในรูปแบบนี้มากกว่าทุกภาคของประเทศไทย แต่กบฏผีบุญที่ได้รับการกล่าวถึงและขยายความเชื่อรวบรวมผู้คนได้มากที่สุดเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2444-2445 มีคนตั้งตัวเป็นผู้มีบุญมากถึง 60 คนกระจายอยู่ทั่วภาคอีสานในตอนนั้น สาเหตุของกบฏผู้มีบุญนั้นมีด้วยกันหลายประการ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ความกดดันจากการขยายอานานิคมของฝรั่งเศสบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ความพยายามของรัฐสยามในการรักษาดินแดน และปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจในการรวมศูนย์อำนาจและรีดเก็บส่วยของรัฐสยาม เป็นต้น
ส่วนเหตุการณ์ที่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี นั้นเป็นการปราบ ‘กลุ่มกบฏองค์มั่น’ กบฏผู้มีบุญอีสานที่โด่งดังที่สุด ด้วยมีความเข้มแข็งมากที่สุด ถึงขนาดเคลื่อนทัพหมายจะเข้ายึดเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นกองบัญชาการมณฑลอีสาน จนปะทะกันและมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ชีวิต หากในอีกแง่หนึ่งเรื่องราวของ ‘กบฏผู้มีบุญ’ ยังได้รับคำอธิบายว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชนผู้ได้รับความกดทับจากอำนาจรัฐ และวาทกรรม ‘กบฏ’ ก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามของรัฐในสมัยนั้น
ภาพมุมสูงบ้านสะพือ อดีตทุ่งสังหารแห่งอีสาน
มีอะไรในหนังสารคดี ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’
“หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นหรือพิเศษเลยครับ ผมทำออกมาอย่างธรรมดาเรียบง่ายมาก ตอนลงพื้นที่ไปบ้านสะพือพบว่าแลนด์สเคปของพื้นที่คือหมู่บ้านเก่าแก่ เป็นหมู่บ้านใหญ่ มีแหล่งน้ำ แหล่งต้มเกลือ และวัด 4 ทิศรอบบ้าน เหมาะแก่การเล่าเรื่องทำหนังมาก โลเคชันมันเหมือนกับหนังลูกอีสานในสมัยก่อนดูจากมุมสูงรอบเขตหมู่บ้าน”
แม้ภูมิทัศน์ของหมู่บ้านสะพือจะเอื้อต่อการเล่าเรื่องราวทำเป็นหนัง แต่อติเทพกลับเลือกเล่าแบบเรียบง่ายในสไตล์ที่ตัวเขาเองถนัด โดยตัดสลับผ่านปากคำของคนในหมู่บ้านเป็นหลัก ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้ผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่เนินโพธิ์จะไม่มีชีวิตเหลือกันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นความทรงจำที่ได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นของคนในพื้นที่ เปรียบได้เหมือนกับการทับถมเศษซากกระดูกของคนที่ตายอยู่ข้างล่าง และถูกทับถมไปเรื่อยๆ ตามวันเวลา และเมื่อเราขุดลึกลงไปก็จะค่อยๆ รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานที่แห่งนี้
“คือเรื่องราวของชาวบ้านแต่ละหลังที่เล่าให้เราฟังมันไม่เหมือนกันเลย เวลาลงพื้นที่ไปแต่ละครั้งก็จะได้เรื่องราวที่ไม่เหมือนกันเลยครับ ช่วงแรกๆ ที่ลงพื้นที่ยังไม่ค่อยได้เก็บฟุตเทจวิดีโอ แต่จะเก็บบันทึกเสียงมากกว่า ก็อธิบายให้ฟังคนในหมู่บ้านฟังว่าต้องการมาถ่ายสารคดี เล่าความทรงจำที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเกี่ยวกับศึกโนนโพธิ์ ที่ผ่านมาข้อมูลที่ไม่ได้มีการจดบันทึกและเขียนออกมาเป็นหนังสือหรืออยู่ตามเว็บไซต์มากนัก เช่น เรื่องราวของคุณตาบุญจันทร์ สุพันสาย อายุ 106 ปี เล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กเคยไปที่โนนโพธิ์หลังการปราบ เคยเห็นเศษซากกระดูกของคนตาย แล้วพ่อของท่านหลบภัยออกไปจากดอนมดแดงได้ทันเวลา นี่คือเรื่องที่ไม่เคยมีใครนำไปเขียนหรือเล่า ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เรื่องนี้มันมีอิทธิพลกับคนที่หมู่บ้านสะพือมาก ถึงขั้นมีการเขียนกลอนลำเกี่ยวกับเรื่องราวการสู้รบศึกผีบ้าผีบุญไปร้อง เพื่อไม่ให้มันหายไปจากความทรงจำของชาวบ้าน”
ปัจจุบันพื้นที่สังหารศึกโนนโพธิ์เป็นไร่นาของคนในหมู่บ้าน
นอกจากเรื่องราวของคุณตาบุญจันทร์อายุกว่าร้อยปี ซึ่งเป็นลูกหลานรุ่นที่ 2 ถัดจากเหตุการณ์เนินโพธิ์ ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ภายในสารคดีเรื่องทุ่งสังหารแห่งอีสาน ยังได้สัมภาษณ์ชาวบ้านซึ่งเป็นลูกหลานบ้านสะพือในรุ่นที่ 3-4 อีกหลายปาก ซึ่งแต่ละคนมีอายุกันตั้งแต่ 70-90 ปี
“เราพยายามตามหาข้อมูลที่ไม่เคยมีในหนังสือ อย่างเรื่องเล่าที่คนในครอบครัวเขาเล่าสืบต่อกันมาหรือสิ่งของ เช่น เคียวที่ใช้ตัดหัวกบฏผีบุญ ซึ่งทางการได้ให้นายกวน เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นกำนันของบ้านสะพือในสมัยนั้น ตัดหัวลูกบ้านของตัวเอง เคียวนี้ก็มีการส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษในหมู่บ้าน ผมเชื่อว่าบ้านหลายหลังในบ้านสะพือก็น่าจะมีของเก่าแก่เก็บรักษาอยู่บนบ้านในทำนองนี้อยู่ ยกเว้นแต่ว่าชาวบ้านจะนำออกมารวบรวมจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของชุมชนให้คนรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้”
คุณตาบุญจันทร์ สุพันสาย อายุ 106 ปี ให้สัมภาษณ์ก่อนจะเสียชีวิต
และผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำ
สิ่งที่ค้นพบจากการทำข่าวและสารคดีเหตุการณ์ทุ่งสังหารแห่งอีสาน
“ในระหว่าง 2 ปีที่ไปทำข่าวและทำสารคดีนี้ ผมได้คุยทั้งกับพระ และผู้เฒ่าที่เป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่รักษาเรื่องราวเพื่อส่งต่อความทรงจำเกี่ยวกับศึกโนนโพธิ์ เช่น คุณตาบุญจันทร์ อายุ 106 ปี ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้าน และก็มีคุณยายที่เป็นหมอธรรม มีองค์มีการถือของ (ถือศีล) คือเรื่องนี้มันจะได้รับการเล่าสืบต่อกันผ่านคนใกล้ชิดที่เป็นเครือญาติหรือคนที่ถือของเหมือนๆ กัน
“นอกจากเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอย่างบริบทสังคมบ้านสะพือในสมัยก่อนเป็นแหล่งต้มเกลือสินเธาว์ที่มีเตาต้มเกลืออยู่ประมาณ 500 เตาเลยทีเดียว แหล่งเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แล้วถามว่าบ่อเกลือนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของกบฏผีบุญอย่างไรไหม ก็ยังไม่มีข้อสันนิษฐานหรือคำอธิบายได้ เพราะไม่มีใครเล่าได้ นอกจากนี้ยังมีวัดเป็นแหล่งหลบภัยของชาวบ้าน ที่นี่เป็นหมู่บ้านใหญ่เก่าแก่ที่มีวัดถึง 4 แห่ง อย่างวัดสีชมพู อยู่ใกล้กับจุดที่เขาฆ่ากันเลย ห่างไปเพียงประมาณ 50 เมตรก็ถึง เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าวัดหรือองค์ผู้มีบุญต่างๆ หรือพิธีกรรมต่างๆ นั้นมีความเชื่อมโยงกับชุมชนมากและมีอิทธิพลกับคนที่นั่นมาก ซึ่งคนลาวในสมัยนั้นไม่ได้ยึดโยงกับรัฐสยาม แต่จะยึดโยงกับเจ้าเมืองหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ คือ ต้องใช้การรวมกลุ่มในเชิงของจิตวิญญาณค่อนข้างสูง เพื่อลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือต่อสู้กับการไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ชาวบ้านในพื้นที่ในปัจจุบันมีน้ำเสียงท่าทีอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
“เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานตั้ง 121 ปีแล้ว ไม่ใช่เวลาที่สั้นมากนัก ดังนั้นความทรงจำของลูกหลานรุ่นที่ 3 และ 4 แทบจะมีเหลือน้อยมาก แต่สิ่งที่แทบทุกคนพูดตรงกันก็คือ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้วนะ แต่กลับไม่มีการขุดคุ้ยกลับมาสร้างเป็นอนุสรณ์สถานหรือเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะเก็บรักษาเรื่องราวความทรงจำให้คนอื่นได้รู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นที่นี่ หรือมีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งเรื่องนี้มันไม่ได้ถูกรับรู้จากคนอื่นๆ ข้างนอกชุมชนเลย และความทรงจำเรื่องนี้มันก็ได้ถูกขัดเกลาจากรัฐและวันเวลามาโดยตลอด”
ในฐานะคนทำข่าวและสารคดีที่คลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้มานาน คุณคิดว่าปัจจุบันเราควรมองอดีตนี้อย่างไร ทำไมจึงควรจะเก็บบันทึกและพูดถึง ทั้งสำหรับคนอีสานและคนไทยโดยรวมเองก็ตาม
“สำหรับคนอีสานเอง ผมมองว่าแม้เหตุการณ์นี้มันจะผ่านมานานกว่า 120 ปีแล้ว แต่เรื่องราวการสังหารหมู่กบฏผู้มีบุญที่บ้านสะพือ หรือที่อื่นๆ เองก็ตามในหลายยุคหลายสมัยนั้น แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และความพยายามของรัฐที่จะปราบปรามผู้เห็นต่างทางความคิดทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าอีสานในสมัยก่อนก็มีความสำคัญกับรัฐสยามมาก คนอีสานจะเข้าใจดีที่สุดถึงการถูกกดขี่กดทับมาอย่างยาวนานในฐานะแรงงาน เราเป็นอะไรก็ไม่รู้ในสายตาของชนชั้นนำ
“สำหรับคนไทยโดยรวม เหตุการณ์สังหารผีบุญเมื่อ 121 ปีก่อน เชื่อมร้อยกับคนในปัจจุบันให้เห็นว่า มันสร้างความเลวร้ายให้กับคนในพื้นที่ สร้างตราบาป สร้างความทรงจำให้กับคนที่นี่อย่างไรบ้าง หรือแม้แต่ความพยายามของรัฐที่จะทำให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกลืมเลือนไปเรื่อยๆ เหมือนกับแกนของของสารคดีเรื่องนี้ที่เราพยายามจะสื่อ นั่นคือการสังหารผีบุญในอดีตมันเหมือนกับการถูกทับถมกันไปเรื่อยๆ ของเศษซาก จนท้ายที่สุดเราจะไม่มีทางได้รู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่บันทึกมันเอาไว้
“จริงๆ งานชิ้นนี้ผมต้องขอบคุณทางเดอะอีสานเรคคอร์ดที่ให้ผมทำงานทุกชิ้นได้อย่างมีอิสระ สมมติว่าวันหนึ่งมันมีการขุดค้นแล้วพบหลักฐานในพื้นที่ และหรือแม้จะเป็นที่อื่นๆ ที่มีเรื่องราวของผีบุญ เราก็อยากจะทำต่อ พัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ตามโอกาสที่อำนวย นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่เราจะเล่าเรื่องราวในอีสาน เหมือนเรื่องนี้เป็นสารตั้งต้นที่ยังมีอะไรให้ตามทำต่ออีกเยอะ”
อ้างอิง:
- โดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2549
วัดสีชมพู บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี
สถานที่จัดฉาย ‘ทุ่งสังหารแห่งอีสาน’ รอบปฐมทัศน์
ที่มา/thestandard.co