ความรู้รอบตัว 0 Comments , ,

เกษตรทางเลือก เพิ่มโอกาสในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

เกษตรทางเลือก เพิ่มโอกาสในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

คงมีคนจำนวนไม่น้อยเคยได้ยินคำว่า “เกษตรทางเลือก” กันมาเยอะพอสมควร ซึ่งจริง ๆ แล้วแนวทางนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการทำเกษตรในปัจจุบันมาก ๆ ด้วยการใช้สารเคมีที่มากขึ้นเพื่อผลผลิตเติบโต แต่กลายเป็นว่าความยั่งยืนที่แท้จริงกลับไม่เกิดขึ้น ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เกษตรกรคนไหนที่สนใจหรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่อยากหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะขออธิบายให้ละเอียดและนำไปทำตามกันได้จริง

เกษตรทางเลือก คืออะไร

เกษตรทางเลือก คือ การทำเกษตรกรรมอีกประเภทหนึ่งที่จะไม่มีการนำเอาสารเคมีใด ๆ เข้ามาปนเปื้อนในผลผลิตของตนเองเลย เน้นหนักไปทางวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปุ๋ยคอก, ปุ๋ยหมัก, หรือวัสดุปกคลุมดินจำพวกหญ้า, ฟาง ฯลฯ รวมถึงการนำเอาเกษตรแบบผสมผสานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ให้เกื้อกูลระหว่างกัน หรือบางคนที่เคยใช้สารเคมีหนัก ๆ สำหรับทำเกษตรก็พยายามลดในส่วนดังกล่าวลงจนเหลือ 0 และไม่หันกลับไปใช้อีกในอนาคต ซึ่งประเภทของเกษตรทางเลือก มีดังนี้

ประเภทของการทำเกษตรทางเลือก

  1. เกษตรแบบธรรมชาติ

เป็นการเกษตรที่เน้นเอาธรรมชาติมามีส่วนร่วมสำคัญเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ตนเองคาดหวัง เช่น การปรับหน้าดิน การพัฒนาดินในบริเวณพื้นที่การเกษตรของตนเองให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างเป็นธรรมชาติ มีการสร้างระบบนิเวศใหม่ให้เกิดการใช้งานร่วมกันอย่างเกิดประโยชน์ ผลผลิตที่ได้จะเน้นมาจากธรรมชาติเป็นหลัก โดยไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ มาเจือปน ดังนั้นสิ่งที่ได้ก็จะเป็นแบบสะอาด เหมาะสมกับการนำไปบริโภคเองและการทำรายได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าทางอาหารที่ดีให้กับผู้บริโภคห่างไกลจากความอันตรายของสารเคมีชนิดต่าง ๆ ในการทำเกษตรทางเลือกแบบนี้จะพยายามมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างผลผลิตและธรรมชาติมากที่สุด ปัจจัยภายนอกที่เคยทำให้เกิดการเติบโตจะใช้น้อยลง

  1. เกษตรแบบอินทรีย์

จะต่างกับเกษตรแบบธรรมชาติตรงที่สามารถนำเอาปัจจัยภายนอกเข้ามาเป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดผลผลิตตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด หรือการใช้หญ้าคลุมบริเวณหน้าดิน แต่จะไม่มีการนำเอาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทุกชนิดมาใช้งานเด็ดขาด อธิบายง่าย ๆ คือ จะต้องเป็นกลุ่มของอินทรียวัตถุเท่านั้น สร้างผลผลิตที่ได้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ แม้กระทั่งการกำจัดศัตรูพืชก็จะใช้วิธีแบบชีวภาพไม่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม หรือทำให้ผลผลิตที่ได้ต้องปนเปื้อนไปกับสารเคมีทุกชนิด

  1. เกษตรแบบผสมผสาน

เป็นแนวทางเกษตรทางเลือกที่เหมาะกับคนมีพื้นที่จำกัด แต่เน้นสร้างผลผลิตให้ออกมาเยอะที่สุด มีการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่สามารถจัดการให้ใช้งานทุกตารางได้อย่างมีคุณค่าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์เช่นกัน การเกษตรแบบผสมผสานนี้จะต้องมีการทำเกษตรอย่างน้อยมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป อาจเป็นการปลูกพืชล้วน, การเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว หรือจะทำควบคู่ทั้ง 2 แบบก็ได้ เพียงแค่ต้องมีการทำให้มากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป เช่น การทำนาแล้วขุดร่องสร้างบ่อเลี้ยงปลา, การทำปลูกพืชที่อยู่ในสภาพเดียวกันมากกว่า 2 ชนิด เป็นต้น

  1. เกษตรแบบทฤษฎีใหม่

เป็นพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่เน้นในเรื่องความเรียบง่าย แต่มีการนำเอาเทคนิคใหม่ ๆ ที่ผ่านการยอมรับในเชิงวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมีเหตุผล พร้อมทั้งยังไม่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล หลัก ๆ แล้วแนวทางของเกษตรทางเลือกลักษณะนี้จะต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ

  • พื้นที่หลักในการทำเกษตร ขึ้นอยู่กับตัวเลือกของเกษตรกร เช่น ทำนา, เลี้ยงสัตว์, ปลูกพืชยืนต้น ฯลฯ 30%
  • พื้นที่สำหรับการทำเกษตรเพื่อใช้บริโภคภายในครัวเรือน 30%
  • พื้นที่เฉพาะสำหรับการปลูกพืชเอาไว้ใช้ได้ทั้งประโยชน์ของตนเองและสร้างรายได้ เช่น ปลูกพืชสวนครัว, พืชไร่, พืชสมุนไพร 30%
  • พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย และทำสิ่งอื่น ๆ 10%

หากสามารถแบ่งพื้นที่ออกได้ใกล้เคียงกับแนวทางนี้จะช่วยสร้างผลผลิตที่ดีให้กับเกษตรกรในระยะยาว เพราะไม่ใช่แค่การมุ่งเน้นไปยังเรื่องใดเพียงอย่างเดียว แต่จะทำให้เกิดผลผลิตแบบควบคู่กันทั้งกินอยู่ด้วยตนเองและการสร้างรายได้

  1. วนเกษตร

เป้าหมายหลักของเกษตรประเภทนี้คือ เน้นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ให้ได้ปริมาณสูงที่สุด อาจมีความซับซ้อนเพื่อให้เกิดผลผลิตแนวใหม่ หรือการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดผลดีต่อธรรมชาติ ทั้งนี้ยังอาจรวมถึงเกษตรเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติเฉพาะถิ่นที่หาได้ยาก เช่น สมุนไพรบางชนิด, พืชผักบางประเภท เป็นต้น โดยรวมแล้วการทำเกษตรประเภทนี้จึงต้องอาศัยแนวคิด ทัศนคติ ความพร้อม และความเหมาะสมของพื้นที่นั้น ๆ เป็นตัวกำหนดด้วย

ในการเลือกทำเกษตรทางเลือกประเภทใดก็ตาม ปัจจัยสำคัญจะเห็นว่าตัวเกษตรกรต้องมุ่งเน้นในเรื่องการจัดสรรที่ดินอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งทำให้ผลผลิตที่ออกมานั้นมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ไม่มีการนำเอาสารเคมีทุกชนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่แค่การมองเห็นถึงความสำคัญของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังใส่ใจไปถึงผู้บริโภคในการรักษาสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น แข็งแรง เป็นการเกษตรที่มีเผื่อเอาไว้ให้คนอื่นได้รับผลดีตอบแทนกลับไปด้วยเช่นกัน เกษตรกรคนไหนสนใจก็สามารถทำได้ทันที เริ่มต้นจากงดใช้สารเคมีเท่านั้น

 

ที่มา www.arda.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *