Credit – Getty Images

ชาวโรฮิงญาคือใครและทำไมต้องหลบหนีจากเมียนมา?

8 กันยายน 2560

เรื่อง – แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 150,000 คนได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพเมียนมาที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา โดยเป็นปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิง (ตามหลักการได้สัดส่วนของการใช้กำลังอาวุธ)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอใช้โอกาสนี้อธิบายถึงชะตากรรมของประชาชนกลุ่มนี้ การกดขี่ปราบปรามจากรัฐที่กระทำต่อพวกเขา และวิกฤตที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

 

กลุ่มชนที่ถูกกดขี่ปราบปราม

 

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิม มีจำนวนประชากรประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา มีพรมแดนติดกับบังคลาเทศ

 

แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วคน แต่รัฐบาลเมียนมายืนยันว่าชาวโรฮิงญาทั้งหมดเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นพลเมืองของตน ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐ
ผลจากการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ พวกเขาจึงมีชีวิตที่ยากลำบาก เมื่อถูกกีดกันออกจากประชากรส่วนอื่น ๆ โดยจงใจชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางอย่างเสรี และมีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล การศึกษา หรือการมีงานทำอย่างจำกัด

ในปี 2555 เกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างชาวโรฮิงญากับประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวพุทธ ส่งผลให้เกิดการก่อจลาจล เป็นเหตุให้ประชากรหลายหมื่นคนโดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน และไปอาศัยอยู่ในค่ายกักกันที่มีสภาพเลวร้าย คนที่อาศัยอยู่ในค่ายเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิไม่ให้เดินทาง และถูกแยกกีดกันออกจากชุมชนอื่น ๆ

ในเดือนตุลาคม 2559 ภายหลังการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาต่อฐานทัพของตำรวจทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เป็นเหตุให้กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการปราบปราม โดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนทั้งหมด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา รวมทั้งการสังหารอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย การจับกุมโดยพลการ การข่มขืนกระทำชำเราการทำร้ายทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และการเผาบ้านเรือนกว่า 1,200 หลัง รวมทั้งอาคารเรียนและมัสยิด ในครั้งนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสรุปว่า ปฏิบัติการเหล่านี้อาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุด

กระแสการอพยพของประชาชนจำนวนมากเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศครั้งล่าสุดเกิดภายหลังปฏิบัติการทางทหารของเมียนมา เพื่อตอบโต้กับการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่มีต่อค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยการตอบโต้ของกองทัพทั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิง (ตามหลักการได้สัดส่วนของการใช้กำลังอาวุธ) เป็นการปฏิบัติต่อประชาชนทั้งหมดราวกับอริราชศัตรู รายงานจากในพื้นที่ระบุถึงการเสียชีวิตของพลเรือน รวมทั้งการเผาทำลายหมู่บ้านอย่างราบคาบ

รัฐบาลเมียนมากล่าวว่า จนถึงปัจจุบันมีประชาชนที่ถูกสังหารอย่างน้อย 400 คน โดยระบุว่าส่วนใหญ่ถูกสังหารโดย “กลุ่มก่อการร้าย”
นอกจากนี้ยังมีรายงานที่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อย

 

ใครเป็นผู้รับผิดชอบ?

กองทัพเมียนมาเป็นตัวหลักในการกระทำอันโหดร้ายครั้งล่าสุดนี้การที่กองทัพเป็นอิสระอย่างมากจากรัฐบาลพลเรือน และไม่ต้องรับผิดในการไต่สวนของศาลพลเรือน จึงทำให้ผู้บัญชาการในทุกระดับและทหารไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดใด ๆ ที่ตนเองเป็นผู้กระทำระหว่างวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้
กองทัพเมียนมามีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาและประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอื่นที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเมียนมา

อย่างไรก็ดี อองซานซูจีซึ่งเป็นมุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาและเป็นผู้นำประเทศในทางพฤตินัย กลับไม่ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานว่ามีปฏิบัติการโดยมิชอบและโหดร้ายของกองทัพ และไม่ได้ดำเนินการเพื่อลดความตึงเครียดเหล่านี้

 

ช่วงต้นเดือนนี้ ทางหน่วยงานของอองซานซูจียังกล่าวหาว่าผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ให้ความสนับสนุนกับกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้เกิดความหวาดกลัวต่อความปลอดภัยของตนเอง

 

อองซานซูจียังไม่รับฟังความเห็นจากองค์การสหประชาชาติและผู้นำโลก ซึ่งเรียกร้องให้เธอดำเนินการแทรกแซงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในรัฐยะไข่

 

หายนะทางมนุษยธรรม

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ชาวโรฮิงญาเกือบ 150,000 คน ได้หลบหนีเข้าสู่บังคลาเทศในช่วงสองสัปดาห์แรกของวิกฤตครั้งนี้ และคาดว่าจะมีการหลบหนีเข้ามาอีก

คนที่มาถึงบังคลาเทศอยู่ในสภาพได้รับบาดเจ็บ หิวโหย และถูกทำร้าย พวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนรวมทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย และบริการรักษาพยาบาล ทางการบังคลาเทศต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่ทุกข์ยากเหล่านี้

ในประเทศเมียนมา คาดว่ามีประชาชนประมาณ 27,000 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ต้องพลัดถิ่นฐานในรัฐยะไข่ และในปัจจุบันได้รับความช่วยเหลือจากทางการเมียนมา

ทางการเมียนมาได้ห้ามไม่ให้องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ นำอาหาร น้ำ และเวชภัณฑ์ไปให้กับประชาชนหลายหมื่นคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา คนเหล่านี้ต่างหลบหนีไปยังอยู่ในป่าเขาที่รกร้างทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องพึ่งพาความช่วยเหลือให้มีชีวิตรอด ตั้งแต่ก่อนจะเกิดความรุนแรงครั้งล่าสุด การปิดกั้นความช่วยเหลือเหล่านี้ยิ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงภัยมากขึ้นต่อประชาชนหลายหมื่นคน และแสดงให้เห็นความเพิกเฉยต่อชีวิตมนุษย์

amnesty.or.thที่มา